หูดข้าวสุก


โรคหูดข้าวสุก เป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยทั่วโลก อัตราการเกิดโรคพบมากขึ้นในประเทศเขตร้อน ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบประมาณ 1% ของประชากรทั้งหมด พบได้ในเด็กอายุหนึ่งปีขึ้นไป เนื่องจากในเด็กเล็กอายุน้อยกว่าหนึ่งปีนั้นจะมีภูมิคุ้มกันที่ส่งผ่านจากมารดาอยู่ จึงมักไม่ติดเชื้อนี้

โรคนี้เป็นโรคที่มีระยะแสดงอาการหลังการติดเชื้อได้ค่อนข้างนาน อาจนานถึงหกเดือนแล้วหายเองได้ เป็นโรคพบมากในเด็กที่ช่วงอายุ 1-10 ปี ส่วนในผู้ใหญ่หูดข้าวสุกที่บริเวณอวัยวะเพศถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง อัตราการเป็นโรคเพิ่มสูงขึ้นในผู้ป่วยโรคเอดส์ โดยพบอยู่ที่ 5-18% ของประชากรที่ป่วยด้วยโรคเอดส์

อาการ

ลักษณะอาการของโรคหูดข้าวสุก คือ เป็นตุ่มสีเนื้อที่ผิวหนัง ไม่มีอาการคันหรือเจ็บ ขนาดประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ตรงกลางอาจมีจุดบุ๋มลงไปคล้ายสะดือ มักพบบริเวณใบหน้า แขน/ขา ในเด็ก และบริเวณอวัยวะเพศในผู้ใหญ่ ในรายที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง อาจมีอาการผื่นแดงคันบริเวณหูดข้าวสุกร่วมด้วย ซึ่งอาการผื่นแดงคันนี้ จะหายไปเมื่อทำการรักษาหูดข้าวสุก

ในผู้ป่วยโรคเอดส์ ปริมาณของหูดฯจะเกิดมากกว่าในคนที่ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ และมักดื้อต่อการรักษา โดยปกติ (คนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ) หูดข้าวสุกนั้น สามารถหายได้เองแม้ไม่ได้ทำการรักษาที่ระยะเวลาประมาณ 2-9 เดือน มีส่วนน้อยมากที่อาศัยเวลา 2-3 ปีจึงหาย

สาเหตุ

สาเหตุของโรคหูดข้าวสุกเกิดจากเชื้อไวรัส ชื่อเดียวกันกับชื่อโรค คือ Molluscum contagiosum virus ย่อว่า ไวรัส MCV/เอ็มซีวี โดยหลังได้รับเชื้อจากการสัมผัส ไวรัสนี้จะเข้าไปแบ่งตัวในเซลล์ผิวหนังชั้นนอก เมื่อแบ่งตัวมากขึ้นๆ ก็จะรวมกันเป็นก้อนในไซโตพลาสซึม (Cytoplasm,ของเหลวที่อยู่ภายในเซลล์) ของเซลล์ เรียกก้อนนี้ว่า Molluscum bodies ซึ่งจะมองเห็นได้จากกล้องจุลทรรศน์ และเมื่อแพทย์ตรวจพบก้อนนี้จากการตรวจชิ้นเนื้อผิวหนังที่เกิดโรค ก็จะเป็นตัวช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคนี้ของแพทย์

ไวรัส MCV นั้นสามารถแยกย่อยออกได้เป็น 4 ชนิดย่อย/Subtype คือ MCV subtype 1 ถึง MCV subtype 4 แต่ทั้ง 4 ชนิดนั้นมีลักษณะอาการและการรักษาเช่นเดียวกัน โดยมีชนิดที่ 1 (Subtype 1) เป็นสาเหตุในการเกิดโรคมากที่สุดถึง 98% ของโรคทั้งหมด

การติดต่อ

โรคหูดข้าวสุก สามารถติดต่อได้โดย

-การสัมผัสผิวหนังที่รอยโรค

-ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (โรคหูดข้าวสุกที่อวัยวะเพศ จัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)

-การติดโรคจากการเกา ทำให้เชื้อโรคติดในเล็บและผิวหนังที่สัมผัสโรค และกระจายสัม ผัสผิวหนังจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งในคนๆเดียวกัน เรียกการติดโรคด้วยวิธีนี้ว่า “Autoinocula tion” เช่น รอยโรคแรกเป็นที่มือ แต่เมื่อเอานิ้วมือที่สัมผัสโรคไปขยี้ตา ก็ทำให้เปลือกตาติดหูดข้าวสุกไปด้วย

-ติดเชื้อไวรัสจากสิ่งของที่ใช้ร่วมกันกับผู้ที่มีรอยโรคหูดข้าวสุก เช่น ผ้าขนหนู และ/หรือ อุปกรณ์ในสถานออกกำลังกาย เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคหูดข้าวสุกนั้น แท้จริงแล้วสามารถเป็นได้ทุกคน ทุกเพศทุกวัย เพราะปัจจัยเสี่ยงหลักคือ การสัมผัสกับรอยโรค หรือสิ่งของที่มีเชื้อไวรัส MCV อยู่

ดังนั้น การลดปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อโรคหูดข้าวสุกทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสรอยโรค, ล้างมือเป็นประจำ, ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้ร่วมกัน, และไม่ใช้สิ่งของส่วน ตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า เสื้อผ้า รองเท้า

ควรไปพบแพทย์

โดยปกติรอยโรคแต่ละตุ่มของหูดข้าวสุก จะหายได้เองภายในประมาณ 2-9 เดือน (โดยเฉลี่ย ประมาณ 2-3 เดือน) การรักษานั้น เพียงทำให้รอยโรคหายเร็วขึ้น และลดการกระจายของเชื้อ จึงแนะนำให้พบแพทย์เสมอเมื่อพบรอยโรคผิดปกติกับผิวหนังไม่ว่าในตำแหน่งใดก็ตาม เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการดูแลรักษาที่ถูกต้อง และเหมาะสมในแต่ละบุคคล

การวินิจฉัยโรค

โดยปกติการตรวจรอยโรคที่ผิวหนังด้วยตาเปล่า พบลักษณะเฉพาะคือ เป็นตุ่มมีรอยบุ๋มคล้ายสะดือตรงกลางรอยโรค ก็สามารถบอกได้ว่ารอยโรคนั้นคือ หูดข้าวสุก แต่หากลักษณะรอยโรคไม่ชัดเจน ก็สามารถตัดชิ้นเนื้อที่รอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา หรือเพียงแต่ใช้เข็มเจาะ/ดูด แล้วนำสารภายในรอยโรคมาย้อมสีด้วยเทคนิคทางการแพทย์ เพื่อตรวจหาก้อน Molluscum bodies (กลุ่มของไวรัสที่สะสมอยู่ในไซโตพลาสซึมของเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส) ซึ่งจะเห็นเป็นสารสีส้มในสไล์ด (Slide/แผ่นแก้วที่ใช้ย้อมสี)

รักษา

แนวทางการรักษาหูดข้าวสุกโดยแพทย์ คือ

รอให้รอยโรคหายเอง เนื่องจากแต่ละรอยโรคใช้เวลาหายเองมักไม่เกิน 2-3 เดือน ซึ่งอาจพิจารณาใช้วิธีนี้ในเด็กที่เป็นไม่มาก เพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดจากการรักษาด้วยวิธีอื่น

อาการแทรกซ้อน

ในรายที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง อาจมีผื่นคันร่วมด้วยที่ตำแหน่งหูดข้าวสุก, หูดข้าวสุกที่เป็นบริเวณเปลือกตา อาจทำให้เกิดเยื่อตาอักเสบได้, และในคนที่เกาแกะรอยโรคอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ

การปฏิบัติตน

-การดูแลตนเองเมื่อเป็นหูดข้าวสุก คือ พยายามไม่แกะเการอยโรค เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน และลดการพาเชื้อไปติดบริเวณอื่นของร่างกาย (Autoinocula tion)

-การดูแลตนเอง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของหูดข้าวสุกสู่ผู้อื่น คือ

-ใส่เสื้อผ้าที่ปกคลุมรอยโรค เพื่อป้องกันการเกาจากตนเอง และเพื่อป้องกันการสัมผัสรอยโรคสู่ผู้อื่น รอยโรคนอกร่มผ้าให้ใช้พลาสเตอร์กันน้ำแปะ

-งดการใช้สระว่ายน้ำขณะมีรอยโรค หรือหากจำเป็นให้ปกคลุมรอยโรคไว้ด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ

-ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ฟองน้ำ ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า

-ไม่จำเป็นต้องหยุดงาน หรือ หยุดโรงเรียน เพียงแต่ปกคลุมรอยโรคด้วยเสื้อผ้า และ พลาสเตอร์ดังกล่าว

-ทำความสะอาดเสื้อผ้าที่สัมผัสรอยโรคด้วยการซักด้วยผงซักฟอก หรือน้ำยาซักผ้าตามปกติ

-เมื่อสัมผัสรอยโรค ให้ล้างมือด้วยสบู่ล้างมือ หรือถ้าไม่มีที่ล้างมือ ให้ใช้เป็นแอลกอฮอล์ชนิดเจลทำความสะอาดมือได้

ป้องกัน

-หลีกเลี่ยงการสัมผัสรอยโรคจากผู้ที่เป็นหูดข้าวสุกอยู่ เช่น การเล่นกีฬาที่มีการสัมผัสกัน เช่น มวยปล้ำ หรือ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นหูดข้าวสุก

-ล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่ล้างมือเมื่อสัมผัสสิ่งของสาธารณะ

-ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันเป็นประจำ โดยเฉพาะอุปกรณ์ในสถานที่ที่ใช้ร่วม กัน เช่น สถานออกกำลังกาย
-ไม่ใช้เสื้อผ้าหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หรือเก็บ/วางปะปนกับของผู้อื่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น